การบริโภคที่ยั่งยืน หมายถึง “การบริโภคสิ่งที่มีความจำเป็นต่อชีวิต โดยบริโภคอย่างพอดี พอมี พอกิน พอใจ ในสิ่งที่มีและได้รับ มีการคำนึงถึงทั้งในวันนี้และวันหน้า และดำเนินชีวิตอย่างมีสติ อยู่ในทางสายกลาง โดยอาศัยความเพียร ความรอบรู้ รอบคอบ ความระมัดระวัง รู้จักการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อค้นหาข้อจำกัดที่ตนมี และนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกรูปแบบการบริโภคที่ก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความสุขในการดำเนินชีวิตที่สามารถพึ่งตนเองได้ กับทรัพยากรที่มีจำกัดในโลกนี้ รวมถึงมีการแบ่งปันให้กับสังคมรอบข้าง และมีความเอื้ออาทรต่อระบบนิเวศ” (โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การบริโภคที่ยั่งยืน)
การบริโภคอย่างยั่งยืนในบริบทไทย มีพื้นฐานจากการประยุกต์แนวคิดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไว้ด้วยกัน โดยให้ความสำคัญกับการบริโภคอย่างยั่งยืนทั้งในระดับภาครัฐ ภาคการผลิตและบริการ ภาคสื่อสารมวลชน และภาคประชาชน โดยมีนโยบาย มาตรการ และกลไกส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืนของทุกภาคส่วน มุ่งพัฒนาการบริโภคอย่างยั่งยืนแบบมีส่วนร่วมและโปร่งใส ภาคการผลิตและบริการมีประสิทธิภาพในการใช้วัตถุดิบ พลังงาน มีการป้องกันและลดมลพิษอย่างจริงจัง มีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้บริโภค ภาคสื่อสารมวลชนมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่สร้างความตระหนักในการบริโภคอย่าง พอดี พอเพียง บริโภคแต่สิ่งที่มีความจำเป็นต่อชีวิต ภาคประชาชนมุ่งปรับเปลี่ยน เรียนรู้ และพัฒนาค่านิยมให้พอใจในสิ่งที่มีและได้รับ มีการคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรทั้งในวันนี้และวันหน้า โดยอาศัยความเพียร ความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง รู้จักการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อค้นหาข้อจำกัดที่ตนมีและนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกรูปแบบการบริโภคที่ก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความสุขในการดำเนินชีวิตที่สามารถพึ่งตนเองได้กับทรัพยากรที่มอยู่จำกัด รวมถึงมีการแบ่งปันให้กับสังคมรอบข้าง และมีความเอื้ออาทรต่อระบบนิเวศ
กรอบแนวคิดการบริโภคที่ยั่งยืนจึงมีหลักการ 3 ประการ คือ
1. การปรับพฤติกรรมการบริโภคให้เป็นการบริโภคอย่างพอดี พอประมาณ
2. การส่งเสริมให้เกิดการตลาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3. การส่งเสริมการผลิตให้มีประสิทธิภาพและเกิดการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่
Last modified: 3 เมษายน 2020